วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิธีระบบ กับ เทคโนโลยีการศึกษา


วิธีระบบ กับ เทคโนโลยีการศึกษา

 

วิธีระบบ กับ เทคโนโลยีการศึกษา

ระบบ  (System) 

หมายถึง การรวบรวมสิ่งต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างมีระเบียบ โดยมีความสัมพันธ์กันและใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้การดำเนินงานนั้นบรรลุตามเป้าหมาย

องค์ประกอบของระบบ 


การวิเคราะห์ระบบ (Systems Analysis) 

เป็นการนำเอาระเบียบและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มาประยุกต์ใช้โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ขององค์ประกอบทั้งหลายภายในระบบ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างและขั้นตอนการดำเนินงานของระบบให้เห็นเป็นกระบวนการอย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ต่อการนำไปเป็นหลักการในทางปฏิบัติ ระบบมีขั้นตอนในกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ อยู่ 4 ประการ คือ
  1. การพิจารณาข้อมูลที่ป้อนให้แก่ระบบ
  2. วิธีการดำเนินงานของระบบ
  3. ผลลัพธ์และการตรวจสอบ
  4. การนำผลจากข้อมูลย้อนกลับมาพิจารณาปรับปรุง
ระบบต่างๆ จะดำรงอยู่ได้จำเป็นต้องอาศัยผลลัพธ์ที่ได้ออกมาว่าเป็นที่พอใจหรือรงตามจุดประสงค์ของระบบใหญ่หรือไม่ การที่ระบบจะดำรงอยู่ได้ระบบจำต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอด้วยโดยอาศัย
  1. ข้อมูลย้อนกลับที่ได้จากการประเมินผลลัพธ์
  2. วิธีใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  3. มีความไวต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงจุดมุ่งหมายของระบบใหญ่

วิธีระบบกับระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์

วิธีระบบเป็นการประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มาใช้  ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือวิธีแก้ปัญหามี 5 ขั้น ดังนี้
  1. การตั้งปัญหา กำหนดขอบข่ายของปัญหา
  2. การตั้งสมมติฐาน
  3. การรวบรวมข้อมูล
  4. การวิเคราะห์ข้อมูล
  5. การสรุปและการนำไปใช้แก้ปัญหา
วิธีระบบ มีขั้นตอนที่สำคัญๆ ดังนี้
  1. ข้อมูลนำเข้า
  2. กระบวนการ
  3. ผลลัพธ์และข้อมูลย้อนกลับ
"ชาร์ด คุลคาร์นี"และคณะ ได้วิเคราะห์ระบบโดยการนำเอาระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหลักการของการสร้างบทเรียนโปรแกรมและการพัฒนาหลักสูตร ได้วิธีระบบ 8 ขั้นตอน คือ
  1. กำหนดปัญหา (Identify Problem)
  2. จำกัดวงของปัญหา (Define Problem)
  3. วิเคราะห์ปัญหา (Analyze Problem)
  4. หาวิธีแก้ปัญหาแบบต่างๆ (Generate Alternative Solutions)
  5. เลือกวิธีแก้ปัญหาที่เห็นว่าดีที่สุด (Select Best Solution)
  6. ออกแบบวางแผนปฏิบัติ (design Action Programmed)
  7. นำแผนไปปฏิบัติ (Implement Programmed)
ปัจจุบันการวิเคราะห์ระบบได้รับความนิยมนำไปใช้กับสาขาวิชาต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งนี้ เพราะเป็นวิธีการที่ให้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและประหยัด ในทางการศึกษาและการเรียนการสอนก็มีการนำเอาหลักการวิเคราะห์ระบบมาใช้เช่นกัน

เทคโนโลยีการศึกษา เป็นการนำเอาวิธีระบบมาประยุกต์ใช้ในวงการศึกษา  ช่วยในการดำเนินงานระบบการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนเพื่อได้ข้อมูลพื้นฐาน ที่จะช่วยในการวางแผนการสอนและตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียน และการจัดการสอน ตลอดจนการเตรียมเนื้อหาบทเรียนและวิธีสอน เพื่อในบรรลุตามวัตถุประสงค์การสอนที่ตั้งไว้

ดังนั้นเทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นวิธีวิเคราะห์ระบบ (The System Analysis Approach) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระบบและวิธีวิเคราะห์ระบบ เพื่อจะได้เข้าใจเทคโนโลยีการศึกษาดียิ่งขึ้น



ระบบการสอน

การออกแบบการสอนอย่างมีระบบนั้น จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของกระบวนการเรียนรู้โดยการรวมองค์ประกอบและตัวแปรต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำไปตัดสินใจในการออกแบบการสอน ทำการทดสอบและแก้ไขปรับปรุง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 

ระบบการสอนที่ดี ควรมีองค์ประกอบที่ชัดเจนและครอบคลุม ผ่านการคิด วิเคราะห์มาจากข้อมูลสภาพจริง และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เน้นผู้เรียนในบรรลุตามวัตถุประสงค์ทั้งด้านความรู้และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งระบบการสอนที่ดี ควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

จุดมุ่งหมายในการสอน /วัตถุประสงค์ในการสอน (Specification of Objectives)

ครู ผู้สอน ต้องกำหนดจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ในการสอนที่ชัดเจน ว่าต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในเรื่องใด เพื่ออะไร เรียนอย่างไร หรือ นำปัญหาในการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนด จุดมุ่งหมายในชั้นเรียน ทั้งนี้ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ว่าจุดมุ่งหมายในการสอนเป็นเรื่องที่ผู้เรียนสนใจหรือไม่ ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้หรือไม่ สามารถจัดการเรียนการสอนตามจุดมุ่งหมายได้หรือไม่ หรือ ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากเรียนไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงหรือไม่

วิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน (Assessment of Behavior)

การวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียน จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยในครูผู้สอนเข้าใจลักษณะของนักเรียนในความแตกต่างของแต่ละบุคคล ครูผู้สอนสามารถสังเกตพฤติกรรมผู้เรียนในชั้นเรียน เพื่อศึกษาลักษณะพื้นฐาน ความสนใจ วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมไปถึงลักษณะนิสัย ภูมิหลัง และการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้เรียนหรือทำแบบทดสอบก่อนเรียน เพื่อทราบความรู้ดั้งเดิม และนำไปวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยน แก้ไข องค์ประกอบของระบบการสอนให้เข้ากับผู้เรียน


เนื้อหาวิชา  (Subject Content)

การเลือกเนื้อหาวิชา หรือองค์ความรู้ที่จะมาใช้ในการสอนนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้เป็นอย่างแรก ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ลักษณะผู้เรียนจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยในการเลือกเนื้อหาวิชา ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องเลือกเนื้อหาวิชาให้เข้ากับเพศ วัย ระดับศึกษา ของผู้เรียน เนื้อหาวิชาจะต้องครอบคลุมความรู้ที่ผู้เรียนควรจะได้รับ เพื่อจะเป็นความรู้พื้นฐานที่จะไปต่อยอดในการเรียนระดับชั้นที่สูงขึ้น

กิจกรรม/เทคนิคการสอน  (Activity and Determination of Strategy)

สิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาวิชามากขึ้น คือ กิจกรรมในชั้นเรียนและเทคนิคในการสอน ถ้าผู้สอนมีกิจกรรมและเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ สามารถทำให้ผู้เรียนมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน พร้อมท้้งได้สาระความรู้ จะเป็นการกระตุ้นและสร้างเจตคติที่ดีต่อรายวิชานั้นๆ ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนต่อไป นอกจากกิจกรรมและเทคนิคการสอนที่ทำให้ได้ความรู้ในเนื้อหารายวิชานั้นๆแล้ว ครูผู้สอนควรมีเนื้อหาที่สอดแทรก คุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเป็นบุคคลที่สมบูรณ์พร้อม ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

สภาพแวดล้อม (Enviroment)

การจัดเวลาเรียน (Allocation of Time) การจัดเวลาเรียนให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนนั้น ควรพิจารณาจาก วัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการสอน 
การจัดสถานที่เรียน (Allocation of Space) การจัดสถานที่เรียนให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนนั้น ควรพิจารณาจาก กิจกรรมในการเรียนสอน จำนวนผู้เรียน และบรรยากาศ สภาพห้องเรียนที่พร้อมสำหรับการเรียนการสอน
การจัดทรัพยากร (Allocation of Resources) การจัดทรัพยากรให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนนั้น ควรพิจารณาจากวัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรม สถานที่ จำนวนผู้เรียน ทรัพยากรที่ใช้อาจเป็นได้ทั้งบุคคล สื่อการสอนอิเล็คทรอนิกส์ สื่อตามสภาพจริง สื่อสิ่งพิมพ์ และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงลักษณะและรูปแบบการรับรู้ของผู้เรียนด้วย

การประเมินผล (Evaluation of Performance)

การประเมินผลเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเรียนการสอน เพราะเป็นตัวชี้วัดที่บอกได้ว่า การเรียนการสอนในชั้นเรียนนั้น บรรลุตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ทั้งด้านความรู้และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับกิจกรรมและสื่อการสอน

การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับ (Analysis of Feedback)

ในกรณีที่ประเมินผลแล้วพบปัญหาว่า การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ จะต้องวิเคราะห์ผลย้อนกลับนำมาพิจารณาว่า ในการดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นมีข้อบกพร่องที่ใดในระบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น





อ้างอิง : บุญเกื้อ ควรหาเวช, ผศ.ดร. วิธีระบบ (System Approach) (ออนไลน์). แหล่งที่มา :    
                       http://www.st.ac.th/av/inno_system.htm. 15 สิงหาคม 2556.
            Senarak. วิธีระบบ (System Approach) (ออนไลน์). แหล่งที่มา : 
                       http://senarak.tripod.com/system.htm. 15 สิงหาคม 2556.
 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น